เหลียวหลัง แลหน้าการประกันคุณภาพ มจธ.

         จาก วธ. สู่ มจธ. และเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดเป็น มจธ. ในปัจจุบัน ด้วยประวัติที่น่าศึกษาตลอดระยะเวลา 60 ปีของสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งอายุ 60 ปีถ้าเป็นบุคคลก็เข้าสู่วัยเกษียณจากการทำงานรอช่วงเวลาพักผ่อน แต่กับองค์กรแล้ว 60 ปีกลับเป็นช่วงเวลาที่มีการสะสมประสบการณ์ที่มากมาย และพร้อมที่จะนำออกมาใช้เพื่อการสร้างความยั่งยืนในอนาคตต่อไป

          ในช่วง 20 ปี หลังจากการเปลี่ยนแปลงสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งแรกของไทยของ มจธ. คำว่า “การประกันคุณภาพการศึกษา หรือคิวเอ (QA)” ก็กลายเป็นคำที่ได้ฟัง ได้ยิน ได้อ่านกันอยู่ทั่วไป บางคนก็อาจจะได้รับรู้เกี่ยวกับคิวเอว่าคืออะไร ในขณะบางคนก็อาจจะได้รับฟังเกี่ยวกับคิวเออย่างไม่รับรู้ และคนอีกกลุ่มก็อาจจะไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับคิวเอนอกจากการได้ฟัง ได้อ่านหรือเคยได้ยิน ฯลฯ

          บทความนี้จะขอสรุปถึงความหมาย ความสำคัญ และวิวัฒนาการที่สำคัญของคิวเอของ มจธ. เพื่อให้เกิดการรับรู้ว่า ทำไมต้องมีคิวเอ และคิวเอคืออะไร ตลอดจนต่อไปคิวเอจะเป็นอะไร?

ความหมายของคำว่าประกันคุณภาพการศึกษา

   คำว่าการประกันในที่นี้มาจากคำศัพท์ต้นฉบับว่า “assurance” ซึ่งจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายคำว่า “ประกัน” ว่า รับรองว่าจะรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น หรือ รับรองว่าจะมีหรือไม่มีเหตุการณ์นั้น ๆ ซึ่งถ้าจะเทียบกับ Collins Cobuild Dictionary จะพบว่า ในความหมายแรกจะตรงกับคำว่า insurance ในขณะที่ความหมายหลังจะใกล้เคียงกับคำว่า assurance ที่ Collins Dictionary ให้ความหมายว่า feeling of confidence and certainty และ definitely happen จึงอาจจะอนุมานได้เบื้องต้นว่า บุคคลทั่วไปจะมีความรู้สึกและรับรู้ความหมายของคำว่า “ประกัน” ใน “การประกันคุณภาพ” ที่คลาดเคลื่อนไป เนื่องจากเรามีความคุ้นเคยกับการออกใบประกัน หรือการประกันชีวิต การประกันทรัพย์สิน ฯลฯ จึงมักเข้าใจว่า “การประกัน” คือ การยอดชดใช้ความเสียหาย (compensation) ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์หรือ การบริการ ที่มีความหมายเชิงลบและเป็นความหมายในเชิงตอบโต้ (reactive) ในขณะที่ความหมายที่ควรจะเป็นของคำว่า “ประกัน” ในที่นี้ ควรจะมีความหมายที่ตรงกับคำว่า การสร้างความรู้สึกให้เกิดขึ้นว่าจะมีความมั่นใจว่าจะมีสิ่งที่ตรงกับความคาดหวังเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งจะพบว่า ในความหมายนี้จะมีความหมายเชิงบวกและอยู่ในเชิงป้องกัน (proactive) อย่างชัดเจน และในคำว่า “ประกัน (assure)” นี้ จะประกอบด้วยคำสำคัญ คือ (1) ความรู้สึก ที่แสดงให้เห็นว่าลูกค้าจะใช้ความรู้สึกหรือเชิงอัตตวิสัย (subjective) ในการตัดสินใจมากกว่าเชิงวิเคราะห์ หรือความเป็นเหตุเป็นผล (2) ความมั่นใจ ที่แสดงให้เห็นว่า จะต้องมีการรักษาไว้หรือการควบคุมอย่างเข้มงวด และ (3) สิ่งที่ตรงกับความคาดหวัง ที่แสดงให้เข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นสิ่งที่ลูกค้าอยากเห็นหรืออยากให้เกิดขึ้น คือ การสร้างความพึงพอใจนั่นเอง จึงอาจสรุปได้ว่า “การประกัน” คือ การทำให้ความรู้สึกมั่นใจว่าจะมีความพึงพอใจ

          การประกันที่กล่าวถึงนี้จะใช้กับคำว่า “คุณภาพ” ที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายว่า ลักษณะที่ดีเด่นของบุคคลหรือสิ่งของ โดยคำว่า “ลักษณะที่ดีเด่น” นี้อาจจะเทียบได้กับความหมายของนิยามของ ISO 9000 ที่ให้คำจำกัดความของ quality ว่า distinguishing feature of a product fulfils requirements จึงอาจจะรวมความได้ว่า คุณภาพ คือ ลักษณะที่ดีเด่น (ลักษณะที่ทำให้เห็นถึงความแตกต่าง) ของผลิตภัณฑ์ และลักษณะที่ดีเด่นนี้จะต้องมีความสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าซึ่งจะทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกพึงพอใจ และความหมายนี้อาจจะสรุปได้ตามมาตรฐาน BS 5750 ว่าเป็น ลักษณะโดยรวมของลักษณะทั่วไป และลักษณะที่ดีเด่นของผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการทั้งที่ระบุหรือไม่ก็ได้ของลูกค้า (totality of features and characteristics of a product or service that bear on its ability to satisfy stated or implied needs)

          ในความหมายของ “คุณภาพ” จะพบคำสำคัญ คือ “ผลิตภัณฑ์ (product)” ที่ ISO 9000 ได้นิยามไว้ว่า หมายถึง สิ่งที่ได้รับจากกระบวนการหนึ่ง (result of a process) ขององค์กรหนึ่ง จึงเป็นประเด็นให้พิจารณาว่า สถาบันอุดมศึกษามีอะไรเป็นผลิตภัณฑ์ของตนเอง ซึ่งอาจจะเป็นคำตอบที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นบัณฑิต องค์ความรู้ หลักสูตร ฯลฯ ดังนั้น การพิจารณาประเด็นนี้จึงต้องกลับมาคิดขั้นพื้นฐานก่อนว่า สถาบันอุดมศึกษาขายอะไร หรือนักศึกษายอมจ่ายค่าเล่าเรียนในการเรียนในสถาบันอุดมศึกษานั้นเขามา “ซื้ออะไร” ซึ่งถ้าระบุถึงคุณค่าที่แท้จริง คือ นักศึกษามาซื้ออาชีพที่ตนเองอยากจะเป็น แต่สถาบันอุดมศึกษาคงประกันอาชีพของผู้เรียนไม่ได้ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว อะไรคือสิ่งที่นำไปสู่อาชีพ แน่นอนจะต้องเป็นความสามารถ (competence) ที่มาจากความรู้และทักษะของแต่ละปัจเจกชน แล้วความรู้และทักษะมาจากไหน ก็คงสรุปได้ว่ามาจาก “หลักสูตร (curriculum)” ที่มีโครงสร้างในการทำให้เกิดองค์ความรู้ ดังนั้นจึงสรุปได้ในกรณีนี้ว่า ในวงการการศึกษาที่จะทำการประกันคุณภาพ ต้องมุ่งเน้นไปที่ คุณภาพของหลักสูตร ที่แสดงถึงผลิตภัณฑ์หรือ output โดยจะมีความสามารถหรือความรู้และทักษะเป็นผลลัพธ์ หรือ outcome

    จากความหมายโดยลำดับของความสำคัญทั้งสามคำที่กล่าวมานี้ จะสรุปได้ว่า การประกันคุณภาพการศึกษา คือ การทำให้นักศึกษาและลูกค้าอื่น ๆ ได้มีความรู้สึกมั่นใจว่า จะมีความพึงพอใจในลักษณะโดยรวมของหลักสูตรที่สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ได้เปิดสอน ซึ่งมันจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ คือ ผู้ที่ได้ศึกษาตามหลักสูตรดังกล่าวจะได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะอย่างครบถ้วนที่จะทำให้สามารถนำไปประกอบอาชีพได้อย่างสุจริตและมีความมั่นคง

      จากความหมายข้างต้นนี้จะมีประเด็นต้องพิจารณา คือ สถาบันอุดมศึกษาจะต้องดำเนินการ (อย่างมีกระบวนการ) อย่างไรให้มีการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งจุดนี้จะทำให้การประกันคุณภาพการศึกษาได้เปลี่ยนจากจุดประสงค์มาแสดงในรูปของกระบวนการที่ต้องดำเนินการ และถ้าพิจารณาถึงกระบวนการทั่วๆ ไปแล้วก็อาจจะเริ่มต้นจากสถาบันอุดมศึกษาหรือผู้ผลิตจะต้องอาศัย เทคโนโลยีเฉพาะด้าน (intrinsic technology) เป็นหลักในการทำให้เกิดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง คือ

          (1) การวางแผนคุณภาพ (quality planning, QP) คือ การออกแบบหลักสูตร

          (2) การควบคุมคุณภาพ (quality control, QC) คือ การเฝ้าพินิจในเชิงเทคนิคว่าหลักสูตรจะได้รับการนำไปดำเนินการตามที่ออกแบบไว้หรือไม่

          (3) การปรับปรุงคุณภาพ (quality improvement, QI) คือ การติดตามว่าหลักสูตรและการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักสูตร มีความบกพร่องอะไรบ้างที่ต้องนำมาปรับแก้ให้ดีขึ้น โดยการปรับปรุงนี้จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับต่อความคาดหวังที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจากลูกค้าและคู่แข่งที่มีการปรับตัวตลอดเวลา เพื่อสร้างความได้เปรียบในเชิงการแข่งขัน

          การประกันคุณภาพการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีเฉพาะด้านนี้ อาจเรียกได้ว่า เป็น การประกันคุณภาพเชิงเทคนิค ที่อาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของบุคลากรเป็นหลัก จึงเป็นกระบวนการที่สร้าง เลียนแบบ และขยายได้ผลได้ยาก รวมถึงจะไม่มีความยั่งยืน เนื่องจากขึ้นกับบุคคลผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก นอกจากนี้แล้วในเชิงธุรกิจจะไม่สามารถแข่งขันในเชิงต้นทุนได้ เพราะว่าไม่สามารถดำเนินการสอนให้กับนักศึกษาจำนวนมากได้ ดังนั้น ในระยะ 40 ปีหลังนี้ สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ทั่วโลกเริ่มศึกษาและปรับใช้กับกระบนการเชิงบริหารและจัดการ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมผลิตที่ดำเนินการอย่างได้ประสิทธิผลมาแล้วในระยะกว่า 120 ปีที่ผ่านมา จึงถือว่าการประกันคุณภาพเชิงเทคนิคเป็นเงื่อนไขที่มีความจำเป็น (necessary condition) ต่อการสร้างหลักการประกันคุณภาพการศึกษา แต่อาจจะไม่เพียงพอที่จะทำให้กระบวนการการศึกษามีการเติบโตอย่างยั่งยืนได้ จึงจำเป็นต้องใช้ การประกันคุณภาพเชิงบริหาร มาเป็นเงื่อนไขที่เพียงพอ (sufficient condition) ต่อการทำให้เกิดการประกันคุณภาพการศึกษาในที่สุด

           การประกันคุณภาพเชิงบริหาร มีการใช้กิจกรรมเชิงจัดการที่อาศัยเทคโนโลยีการบริหาร (managerial technology) อย่างต่อเนื่อง คือ

          (1) การวางแผนคุณภาพ (quality planning, QP) คือ การกำหนดแผนการเชิงกลยุทธ์ต่อการทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจและพึงพอใจ

          (2) การควบคุมคุณภาพ (quality control, QC) คือ การเฝ้าพินิจเชิงระบบว่า มีการดำเนินการตามแผนการเชิงกลยุทธ์หรือไม่ด้วยกระบวนการ quality audit

          (3) การปรับปรุงคุณภาพ (quality improvement, QI) คือ การประเมินด้วยกระบวนการ quality assessment ว่า ระบบของการประกันคุณภาพมีความบกพร่องอะไรบ้างที่มีความจำเป็นต้องนำมาปรับแก้ไขให้ดีขึ้น

      โดย การตรวจติดตามด้านคุณภาพ (quality audit) จะมุ่งเน้นว่าการดำเนินกิจกรรมนั้นมีความสอดคล้อง (compliance) เป็นมาตรฐานที่ระบุไว้หรือไม่ เพื่อเป็นการควบคุม ในขณะที่
การประเมินผลด้านคุณภาพ (quality assessment) จะมุ่งเน้นที่พิจารณาว่า การดำเนินตามมาตรฐานนั้นมีความบกพร่องหรือมีโอกาสที่จะทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างไร เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาต่อไป

        ดังนั้น จะพบว่าการประกันคุณภาพเชิงบริหารจะเป็นการดำเนินการที่ไม่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะ ตรงกันข้ามว่า จะต้องได้รับความร่วมมือจากบุคลากรทุกคนในทุกหน่วยงานมาร่วมดำเนินการอย่างมีระบบ โดยลักษณะดังกล่าวนี้ได้รับการพัฒนาต่อเป็นการบริหารโดยรวมเพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพ หรือ การบริหารคุณภาพโดยรวม (Total Quality Management) และเมื่อการบริหารได้เปลี่ยนบทบาทจากกระบวนการสนับสนุนกิจกรรมเชิงเทคนิคมาเป็นกระบวนการหลักของการประกันคุณภาพเพื่อสนับสนุนการประกันคุณภาพเชิงเทคนิค ลูกค้าก็เริ่มให้ความสนใจว่า จะมีความมั่นใจและพึงพอใจในระบบการบริหารได้ดีเพียงไร การบริหารเป็นไปอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้หรือไม่ ฯลฯ ด้วยหลักคิดทีว่า ถ้าคุณภาพของระบบการบริหารไม่บังเกิดขึ้นแล้วก็คงจะไม่มีคุณภาพจากผลิตภัณฑ์อย่างแน่นอน การบริหารคุณภาพโดยรวม (TQM) จึงได้รับการพัฒนาให้เน้นไปที่ คุณภาพของระบบการบริหาร (quality of management system) แทน โดยมาตรฐานที่ได้ทำการพัฒนาถึงคุณภาพของระบบการบริหารของการศึกษาอย่างจริงจัง คือ มาตรฐานแห่งชาติอเมริกัน หรือ Baldrige Performance Excellence Program ที่ สกอ. ได้นำมาเป็นพื้นฐานของเกณฑ์ EdPEx ที่ใช้ในปัจจุบัน

เหลียวหลังการประกันคุณภาพการศึกษา มจธ.

          ตามที่ทราบกันแล้วว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้รับการสถาปนาในชื่อว่า “วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี (วธ.)” เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2503 สังกัดกองวิทยาลัยเทคนิค กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีพันธกิจหลักคือ การผลิตครูช่างเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรม ในระยะต้นนี้การประกันคุณภาพจึงมีเฉพาะการประกันคุณภาพเชิงเทคนิคที่ดำเนินการจัดหลักสูตรให้เน้นการปฏิบัติ และเมื่อผลิตวิศวกรก็เป็น “วิศวกรปฏิบัติเป็น” ที่สามารถตอบโจทย์ของอุตสาหกรรมได้ (สร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า) กอปรกับความเป็นองค์กรขนาดเล็ก มีบุคลากรที่ทุ่มเทและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบเต็มที่ จึงสามารถควบคุมคุณภาพได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องอาศัยกลไกเชิงระบบใด ๆ มาช่วย จึงอาจกล่าวได้ว่า การประกันคุณภาพการศึกษาในระยะแรกเป็นการประกันคุณภาพเชิงเทคนิคอย่างสมบูรณ์แบบ และเท่ากับการสะสมความดีงามหรือชื่อเสียง (reputation) ของหลักสูตรและสถาบันให้ปรากฏแก่ลูกค้าไปในตัว

         เมื่อวิทยาลัยเทคนิคธนบุรีได้รับการปรับสถานะเป็นสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตธนบุรี (สจ.ธ.) เมื่อปี พ.ศ. 2513 แล้วย้ายมาเป็นสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย (ชื่อในขณะนั้น) ทำให้เริ่มมีกระบวนการจัดการที่เป็นรูปร่างขึ้น แต่ก็ยังเป็นไปอย่างไม่ซับซ้อน การประกันคุณภาพยังคงอาศัยการประกันคุณภาพเชิงเทคนิคเป็นหลักใหญ่ โดยอาศัยกระบวนการจัดการมาจัดการในลักษณะของการจัดการงานประจำ (routine management หรือ daily management) เป็นหลัก ความมั่นใจและความพึงพอใจในหลักสูตรและกระบวนการเรียน การสอนของลูกค้า (นักศึกษา, ผู้ประกอบการ) ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

      สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตธนบุรีได้รับการเปลี่ยนสถานะเป็นนิติบุคคล  และเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (สจ.ธ.)” เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2529 ทำให้มีการขยายหลักสูตรให้มีจำนวนที่มากขึ้นและมีความหลากหลายมากขึ้น ภายใต้การนำของท่านอธิการบดีในขณะนั้น (รศ.ดร.ไพบูลย์ หังสพฤกษ์) การจัดการสถาบันได้ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงเป็นการบริหารสถาบันที่เกือบจะสมบูรณ์แบบมากขึ้น การประกันคุณภาพการศึกษาในช่วงต้นของการเปลี่ยนแปลงยังคงอิงกับการประกันคุณภาพเชิงเทคนิค แต่ก็เริ่มมีแนวความคิดการประกันคุณภาพเชิงจัดการเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2537 สถาบันได้ประกาศนโยบายการประกันคุณภาพตามแนวทางการบริหารระบบคุณภาพของอนุกรมมาตรฐาน ISO 9000 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำ แนวความคิดการประกันคุณภาพเชิงจัดการ เข้ามาใช้อย่างเป็นทางการในสถาบันแห่งนี้ โดยแนวทางการดำเนินการของท่านอธิการบดีในขณะนั้น (รศ.ดร.หริส สูตะบุตร) ได้กำหนดให้ใช้ ISO 9000 เป็นกรอบในการบริหารงานให้ได้คุณภาพ มากกว่าการมุ่งเน้นการจัดทำเอกสาร เพื่อการขอรับรองคุณภาพเช่นเดียวกับที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม และในระยะแรกจะมุ่งเน้นไปที่การฝึกอบรมให้เข้าใจถึงแนวความคิดการประกันคุณภาพด้วยระบบการบริหารตามโครงสร้างของอนุกรมมาตรฐาน ISO 9000 และ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2539 ก็ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประกันคุณภาพขึ้น ซึ่งเท่ากับการประกันคุณภาพได้ปรับเปลี่ยนไปใช้ในระบบบริหารมากขึ้น และในระยะเวลาแรกกลไกการประกันคุณภาพจะมุ่งเน้นไปที่การควบคุม และการปรับปรุงคุณภาพในการเรียนการสอนมากกว่าการมุ่งไปที่การออกแบบหลักสูตรให้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า

       เมื่อสถาบันฯ ได้รับการเปลี่ยนสถานะจากมหาวิทยาลัยของรัฐบาลมาเป็น มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่ได้รับการปรับเปลี่ยนสถานะ รวมถึงมีการเปลี่ยนชื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจกิจอีกครั้ง เป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2541 โดยการเปลี่ยนแปลงสถานะในครั้งนี้ของมหาวิทยาลัย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดต่อมหาวิทยาลัยที่ปรับตนเองเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยเต็มรูปแบบ และมีผลต่อการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่กับกระบวนการประกันคุณภาพ โดยมีปัจจัยสำคัญหลัก ๆ ที่เป็นแรงผลักดัน คือ

    (ก) การปรับเปลี่ยนสถานะจากมหาวิทยาลัยของรัฐมาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ที่มีความจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งในระบบการบริหารองค์กร แทนระบบการจัดการตามนโยบายรัฐเหมือนในอดีต

     (ข) การประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งมีการกำหนดให้มีการประกันคุณภาพการศึกษา ที่นำไปสู่การจัดทำมาตรฐานการอุดมศึกษาที่มีการกำหนดให้มีมาตรฐานด้านการบริหารจัดการอุดมศึกษาที่มีการกำหนดให้จัดให้มี ระบบการประกันคุณภาพเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีการกำหนดให้ทุกหลักสูตรกำหนด ระบบการประกันคุณภาพของหลักสูตร ให้ชัดเจน ตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร

  (ค) การจัดตั้งสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เมื่อพฤศจิกายน 2543 เพื่อทำหน้าที่พัฒนาระบบการประเมินคุณภาพภายนอก (ในปี พ.ศ. 2561 ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้หน้าที่และอำนาจในการประเมินคุณภาพภายนอกอยู่ภายใต้คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา กระทรวงอุดมศึกษาฯ)

   (ง) สภาวะวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ในปี พ.ศ. 2541 ที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถให้งบประมาณอุดหนุนมหาวิทยาลัยได้เหมือนปกติ ที่มีผลทำให้มหาวิทยาลัยต้องมีมาตรการการจัดการงบประมาณอย่างเข้มงวด ซึ่งทำให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการประเมินประสิทธิผลในการทำงานของบุคลากรมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

      จากปัจจัยภายนอกที่เป็นแรงผลักดัน  กอปรกับวิสัยทัศน์ของท่านอธิการบดีในขณะนั้น
(อ.ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร) ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนแนวความคิดการบริหารจากแนวความคิด function based มาเป็น corporate based ที่มีผลทำให้การบริหารจัดการมหาวิทยาลัยเปลี่ยนจากการเน้นที่ daily management มาสู่ strategic management ทำให้มีการจัดทำวิสัยทัศน์ (vision) ของมหาวิทยาลัยและแผนการเชิงกลยุทธ์ขึ้นเป็นครั้งแรก และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2542 สภามหาวิทยาลัย (มีคุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยในขณะนั้น) ได้มีมติรับเอาปรัชญาและแนวความคิดของระบบการบริหารคุณภาพโดยรวม หรือ TQM (Total Quality Management) เข้ามาใช้เป็นแนวทางในการบริหารงานของมหาวิทยาลัย โดยกำหนดกลยุทธ์ไว้ 2 ส่วน คือ กลยุทธ์ด้านการประกันคุณภาพ (QA) และกลยุทธ์ด้านการเพิ่มผลผลิต (PI – Productivity Improvement) นอกจากนี้แล้วยังมีการจัดตั้งหน่วยงานการประกันคุณภาพ (เป็นหน่วยงานในสังกัดกองบริการการศึกษา) ขึ้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2543 เพื่อทำหน้าที่หลักในการรองรับการประเมินคุณภาพภายนอก (ซึ่งมีการประเมินรอบแรกในปี พ.ศ. 2545) และในเดือน ธันวาคม 2543 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารคุณภาพโดยรวม (TQM) ขึ้น โดยมีอธิการบดีเป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ส่งเสริม การบริหารคุณภาพ กำหนด / จัดทำ และคิดตามแผนการบริหารคุณภาพเชิงกลยุทธ์รวมทั้งประสานงานทางด้านคุณภาพระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ในขณะเดียวกันก็มีการจัดทำ Workshop ของบุคลากรระดับจัดการทั่วทั้งมหาวิทยาลัยในด้าน TQA (Total Quality Alignment) โดยคุณประสิทธิ์ ตันสุวรรณ ซึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัย เพื่อให้ได้เข้าใจถึงแนวความคิดการบริหารคุณภาพที่ร่วมมืออยู่ในแนวทางเดียวกัน (alignment) ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย

         ดังนั้น อาจจะสรุปได้ว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้น มจธ. ถือการประกันคุณภาพ (QA) เป็นกลยุทธ์หลักสำคัญประการหนึ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามวิสัยทัศน์ขององค์กร และถือว่า การประกันคุณภาพได้ปรับเปลี่ยนจากการประกันคุณภาพเชิงเทคนิคเป็นการประกันคุณภาพเชิงจัดการโดยสมบูรณ์ ซึ่งการประกันคุณภาพเชิงจัดการนี้ทำให้ มจธ. ต้องมีการจัดทำระบบการบริหารเพื่อให้เกิดคุณภาพ หรือ ระบบการบริหารคุณภาพ ที่ต้องดำเนินการภายใต้กระบวนการหลักทั้งสามส่วน คือ การวางแผนคุณภาพเชิงกลยุทธ์ การควบคุมคุณภาพ และการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

        ในด้านการควบคุมและการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่องนั้น มจธ. ได้เริ่มต้นดำเนินการประเมินตนเองโดยมีการเริ่มฝึกอบรมให้บุคลากรเข้าใจและสามารถทำรายงานการศึกษาตนเอง (SSR – self-study report) ได้ โดยมีการเริ่มจัดให้มีการฝึกอบรมให้แก่บุคลากรเป็นครั้งแรก เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2542 และก็มีการฝึกอบรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยแนวทาง SSR มุ่งเน้นให้หน่วยงานได้พิจารณาตนเองว่า ได้ปฏิบัติครบตามองค์ประกอบคุณภาพที่กำหนดไว้ ซึ่งในเวลาต่อมาได้กำหนดให้หน่วยงานจัดทำรายงานการประเมินตนเอง (SAR – self-assessment report) เพื่อการระดมความคิดของบุคลากรในหน่วยงาน และพิจารณากำหนดดัชนีชี้วัดคุณภาพ รวมทั้งเกณฑ์ประเมินที่เห็นว่าเหมาะสมกับบริบทของหน่วยงาน โดยขณะนั้นถือว่า SAR คือกลไกสำคัญในการประเมินคุณภาพภายใน เพื่อความพร้อมต่อการประเมินคุณภาพภายนอกโดย สมศ. และตรงจุดนี้อาจถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างการรับรู้ (perception) ที่ไม่ถูกต้องแก่บุคลากร มจธ. ว่า ระบบการประกันคุณภาพคือการจัดทำรายงาน และการทำเอกสารจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่การจัดทำ SAR หรือเอกสารเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ หนึ่งของกลไกการประเมินระบบคุณภาพ (quality assessment) เพื่อการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่องเท่านั้น

จากระบบการบริหารคุณภาพ สู่ คุณภาพของระบบการบริหาร

          ในปี 2546 สภามหาวิทยาลัยมีแนวความคิดที่จะใช้เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) ที่มีพื้นฐานมาจากรางวัลคุณภาพแห่งชาติอเมริกัน (MBNQA) มาเป็นกรอบในการประเมินระบบการบริหารของมหาวิทยาลัย โดยมีการแต่งตั้ง ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ (กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในขณะนั้น) เป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาการประเมินมหาวิทยาลัย เพื่อทำหน้าที่วางกรอบและแนวทางการประเมินมหาวิทยาลัย และคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้เสนอให้มหาวิทยาลัยสมัครขอรับรางวัลคุณภาพแห่งชาติในปี พ.ศ. 2548 และตรงนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับแนวความคิดกระบวนการประกันคุณภาพการศึกษา มจธ. จากการวางระบบการบริหารเพื่อคุณภาพ (quality management system) มาเป็นการประเมินคุณภาพของระบบการบริหาร โดยกรอบ TQA ที่เป็นระบบการบริหารเชิงบูรณาการ (IMS – integrated management system)

         ในปี 2550 มหาวิทยาลัยโดยท่านอธิการบดีในขณะนั้น (รศ.ดร.ไกรวุฒิ เกียรติโกมล) ได้ปรับระบบการประเมินคุณภาพของมหาวิทยาลัยใหม่ โดยใช้ SAR ของหน่วยงานมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อช่วยลดความซ้ำซ้อนในการรับการประเมินจากหน่วยงานภายนอก ทั้งนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างมาตรฐานและตัวบ่งชี้ เพื่อการประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัย

       นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา ท่านอธิการบดีในขณะนั้น (รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน) ได้กำหนดให้การประกันคุณภาพการศึกษาเป็นนโยบายเร่งด่วน และได้กำหนดแนวทางการประกันคุณภาพด้วยการสร้างความเข้มแข็งแก่ระบบการบริหารมหาวิทยาลัย โดยอาศัย EdPEx ที่มีแนวความคิดมาจาก MBNQA ภาคการศึกษาซึ่งกำหนดขึ้นโดย สกอ. เป็นกรอบในการดำเนินงาน และมี TQM เป็นแนวความคิด โดยมีกรอบการประเมินคุณภาพภายในเป็นแขนขา ซึ่งถ้าทำการเปรียบเทียบองค์กรกับร่างกายของคนเรา ก็อาจถือได้ว่า TQM คือ ระบบสมองที่มี EdPEx คือระบบเส้นประสาทที่ดำเนินการตามสมองสั่งการ และมีระบบการประเมินคุณภาพภายในเป็นระบบกล้ามเนื้อ ที่ทำหน้าที่ให้ร่างกายดำเนินกิจกรรมที่มีความยั่งยืนได้

      กิจกรรมหลัก ๆ ในระยะ 8 ปีหลังนี้ จะเน้นการสร้างความเข้มแข็งด้านระบบการบริหารของมหาวิทยาลัย โดยมีแนวความคิดด้านคุณภาพ (quality concept) เป็นพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการบริหารทั่วทั้งองค์กร มีการกำหนดให้ทุกหน่วยงานในระดับคณะวิชา สำนัก และหน่วยงานในสำนักงานอธิการบดีได้ทำความเข้าใจกับองค์กรตนเองด้วยการจัดทำโครงร่างเชิงองค์กร (OP – organizational profile) และ การดำเนินการจัดทำโครงการปรับปรุงในเชิงกลยุทธ์ สำหรับในด้านการบริหารนโยบายได้มีการประเมินตนเองของผู้บริหารระดับสูงโดยอาศัยกรอบ EdPEx การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ (strategic planning) ซึ่งประกอบด้วยการกำหนดกลยุทธ์ และการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ (strategy deployment) ฯลฯ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ในระยะนี้เป็นระยะเริ่มต้นในการสร้างพื้นฐานแก่ระบบการบริหารของมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความเข้มแข็งในอนาคต และการประเมินคุณภาพก็มีการดำเนินการทั้งในระดับหลักสูตร (product quality) และระดับคณะวิชา ตลอดจนถึงระดับมหาวิทยาลัย (system quality)

แลไปข้างหน้ากับการประกันคุณภาพการศึกษา มจธ.

        จากจำนวนสถาบันการศึกษาที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก เพื่อรองรับปริมาณนักศึกษาที่มีจำนวนมาก ในอดีตเป็นต้นมาเข้าสู่ยุคที่อัตราการเกิดของพลโลกลดลง และสังคมเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้อุปทานของการศึกษามีเกินอุปสงค์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กอปรกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่เข้าสู่ยุค digital ที่สมบูรณ์แบบ ทำให้ความคาดหวังในการศึกษาระดับอุดมศึกษาของนักศึกษามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง การประกันคุณภาพจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกพ้นด้วยปัจจัยจากสังคม มิใช่เพียงกฎเกณฑ์จากข้อกฎหมายอีกต่อไป และด้วยความหลากหลาย (variety) ของวิชา สาขาวิชา และหลักสูตรในการตอบสนองต่อผลลัพธ์ (outcome) ของกระบวนการให้การศึกษา ทำให้ไม่สามารถหลีกพ้นระบบการจัดการและระบบการบริหารที่มีคุณภาพได้ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเป็นแนวทางเดียวกัน (alignment) ต่อการดำเนินงานภายในมหาวิทยาลัย ดังนั้น ระบบการบริหารที่มีคุณภาพของมหาวิทยาลัย จึงเป็นคำตอบเดียวที่มหาวิทยาลัยต้องดำเนินการ เพื่อให้เกิดการประกันคุณภาพอย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อการสร้างความยั่งยืนแก่องค์กรในที่สุดซึ่งทั้งหมด คือ โจทย์ที่ท้าทายประชาคม มจธ. ในยุค 60 ปีที่นำโดยท่านอธิการบดี (รศ.ดร.สุวิทย์ เตีย) และคณะผู้บริหารทุกระดับของ มจธ.

บทส่งท้าย

       จากวิวัฒนาการการประกันคุณภาพ มจธ. ที่เป็นไปตามวงจรการดำเนินธุรกิจ ตามความสมดุลย์ของอุปสงค์ อุปทาน ที่ทำให้ มจธ. เริ่มต้นจากการประกันคุณภาพเชิงเทคนิค มุ่งสู่การประกันคุณภาพเชิงจัดการที่อาศัยการสร้างระบบการบริหารให้มีคุณภาพ ถือเป็นวิวัฒนาการที่มีบริบทท้าทายประชาคมของ มจธ. เป็นอย่างยิ่งว่า พวกเราจะร่วมกันก้าวไปอย่างมั่นคงได้อย่างไร ? โดยผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตไว้ให้ร่วมกันคิด และหาหนทางแก้ไขร่วมกัน ดังนี้

      (1) ทำอย่างไรให้ประชาคมเข้าใจว่า การประกันคุณภาพการศึกษา คือการทำหน้าที่ที่รับผิดชอบอย่างเข้มแข็ง และสามารถตรวจสอบได้ (accountability) ที่จะทำให้นักศึกษา มจธ. สามารถเรียนจบ และมีอาชีพที่มั่นคง สร้างความเข้มแข็งแก่สังคมประเทศชาติ โดยที่การประกันคุณภาพการศึกษามิใช่การนั่งเทียนเขียนรายงานที่มีแต่ความสูญเปล่า

      (2) ทำอย่างไรให้ประชาคมมี    ความตระหนัก  และเข้าใจถึงระบบการบริหารงานอย่างแท้จริง มิใช่เพียงแต่ท่องจำ P-D-C-A เป็นบทสวดโดยไม่เข้าใจในบริบทของกิจกรรมที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยประเด็นสำคัญแรกสุด คือ ทำอย่างไรให้คนที่เก่งและดีอยากเข้ามาสู่กระบวนการบริหารมหาวิทยาลัยมากยิ่งขึ้น และบริหาร (management) ด้วยการใช้เหตุและผล ยุติการบริหารด้วยหลัก “เก๋า เดาส่ง ใช้กึ๋น”

  (3) ทำอย่างไรให้ประชาคมมีความเข้าใจว่า การจัดทำกระบวนการจัดการศึกษาให้เป็นมาตรฐาน (standardization) คือ สิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานของการประกันคุณภาพ ที่มิใช่เพียงแต่การจัดทำมาตรฐาน (standard) โดยอาศัยกลไกการตรวจติดตามคุณภาพ (quality audit) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน

       (4) ทำอย่างไรให้ประชาคมมีความเข้าใจร่วมกันว่า เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่อความคาดหวังของลูกค้า มีความจำเป็นต้องวางระบบการบริหารและจัดการให้กลไกของการประกันคุณภาพเชิงเทคนิค และเชิงจัดการ มี การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยกลไกการประเมินคุณภาพ
(quality assessment) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน โดยมีพื้นฐานมาจากการพัฒนาผู้ประเมิน (quality assessor) ให้มีความรู้และทักษะในการประเมินผลระบบการประกันคุณภาพ มิใช่การมุ่งแต่การจัดทำเอกสารและเขียน SAR เพื่อการตอบเกณฑ์ที่กำหนดมาเป็นกรอบเท่านั้น

     และ (5) ทำอย่างไรจึงจะสร้างความสามารถให้กับบุคลากรทั่วทั้งองค์กรในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง โดยยึดหลัก การสร้างคุณค่า (value based) เป็นสำคัญ และมีความตระหนักถึงภารกิจขององค์กรเป็นสำคัญ มากกว่าการคำนึงถึงภารกิจตามหน้าที่ตนเองที่ได้รับการมอบหมาย

      ประเด็นทั้งหัวข้อข้างต้นนี้ ผู้เขียนมีความเชื่อมั่นและศรัทธาเต็มเปี่ยมว่า ประชาคม มจธ. สามารถเอาชนะ และร่วมกันเดินทางไปข้างหน้าด้วยกัน ทำด้วยกันและเรียนรู้ไปด้วยกัน เพื่อ สร้าง มจธ. ให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งคุณภาพของประเทศไทย ในโอกาสครบรอบสถาปนา 60 ปีนี้ ด้วยความเคารพและขอบคุณอย่างมากครับ